จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562

กาบต้นกล้วย และใบไม้ชนิดต่างๆที่อยู่ในท้องถิ่น





ที่บ้านท่าดีหมี  ต.ปากตม  อ.เชียงคาน  จ.เลย  ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันทำภาชนะบรรจุอาหารจากกาบต้นหมาก กาบต้นกล้วย และใบไม้ชนิดต่างๆที่อยู่ในท้องถิ่น  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณด้านเครื่องจักรจากภาคเอกชน และผู้ว่าราชการจังหวัด  เพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบในการผลิตภาชนะจากวัสดุธรรมชาติแทนการใช้โฟม  ซึ่งจังหวัดเลยขณะนี้ ประสบกับปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น จนสถานที่กำจัดขยะมีไม่เพียงพอ





นางจิตรา  ผดุงศักดิ์  ที่ปรึกษากลุ่มผลิตภาชนะกาบหมากบ้านท่าดีหมี กล่าวว่า  โครงการนี้เริ่มจากเมื่อปีที่แล้ว  ตนได้มีโอกาสพบกับนายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย  ท่านคุยกันเรื่องปัญหาขยะ จะหาวิธีการอย่างไรจะลดปริมาณขยะในจังหวัดเลย  ตนจึงได้นำรูปภาพถ้วยจานที่ทำจากกาบต้นหมากในประเทศอินเดียให้ผู้ว่าฯดู  ปรากฏว่า ท่านให้ความสนใจ และมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.เลย เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยก็ได้เลือกเอาหมู่บ้านท่าดีหมี เป็นแหล่งผลิต เนื่องจากชาวบ้านมีความพร้อม และในอนาคตที่หมู่บ้านแห่งนี้จะมีแหล่งท่องเที่ยวสกายวอล์คปากแม่น้ำเหือง  ซึ่งตนก็ได้รู้จักกับเพื่อนชาวเนปาล จึงให้เขาพาไปดูแหล่งผลิตที่ประเทศอินเดีย และติดต่อขอซื้อเครื่องจักรมาด้วย ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณเบื้องต้นจากนักธุรกิจร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในอำเภอวังสะพุง   และเป็นความโชคดีที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเดินทางมาเป็นวิทยากรอบรมการผลิตให้ชาวบ้านด้วย เป็นเวลา 7 วัน ซึ่งพวกเขาไม่เคยออกไปทำเช่นนี้ในประเทศไหนเลย
นางจิตรากล่าวอีกว่า  อย่างไรก็ตาม  จากการทดลองผลิตถ้วยจานจากกาบต้นหมากที่นี่ 7 วันที่ผ่านมา พบปัญหาวัตถุดิบในจังหวัดเลยมีไม่เพียงพอ  ต้องออกไปซื้อมาจากจังหวัดตาก ในราคาใบละ 2.5 บาท  รวมต้นทุนการผลิตแล้วอยู่ที่ใบละ 4.5 บาท จึงถือว่าราคาค่อนข้างสูง  เราจึงนำเอาใบไม้หรือกาบกล้วยที่มีในท้องถิ่นมากมายมาทำด้วย ซึ่งก็ใช้ดีพอสมควร คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน สำหรับการเรียนรู้ และเตรียมความพร้อมของชาวบ้าน   ทั้งด้านการตลาด  การผลิต  ในต้นเดือนธันวาคมนี้ก็จะนำออกไปจำหน่ายได้  โดยพัฒนาให้สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง  โดยในช่วงแรกนี้ จะเน้นไปที่ถนนคนเดินเชียงคาน แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ซึ่งหากทุกร้านอาหารบนถนนเส้นนี้พร้อมใจกันนำถ้วยจานไปใช้ ก็จะเป็นภาพที่สวยงาม เข้ากับบรรยากาศบ้านไม้เก่าเป็นอย่างดี และที่สำคัญจะสามารถลดปริมาณขยะได้มากขึ้นด้วย




นางสาวภูษณิศา โฉสูงเนิน  ตัวแทนกลุ่มผลิตจานกาบหมากบ้านท่าดีหมี  กล่าวว่า  เดิมกลุ่มชาวบ้านได้รวมตัวกันอยู่แล้วในนามกลุ่มโอท็อป  เมื่อมีโครงการนี้เข้ามา  ชาวบ้านก็ตื่นตัว เป็นอย่างมาก  มีสมาชิกที่ร่วมงานกันอย่างจริงจังตอนนี้ 20 คน โดยรวมหุ้นกัน เตรียมทำกันในลักษณะของวิสาหกิจชุมชน  ซึ่งทุกคนมีความคาดหวังว่าถ้วยจานจากวัสดุธรรมชาติจะลดปริมาณขยะลงไปได้มาก  เพราะในไม่ช้านี้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมสกายวอล์คที่บ้านท่าดีหมีมากขึ้น ปัญหาขยะก็จะตามมา  ชาวบ้านทุกคนจึงตระหนักถึงปัญหานี้  เข้าร่วมโครงการด้วยความยินดี  พร้อมจะช่วยกันดูแล ดำเนินกิจการให้เจริญก้าวหน้า สร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไปอย่างยั่งยืน นางสาวภูษณิศากล่าว
ด้านนายบาบู  เสทุมาได  นักวิชาการนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากรัฐมทิฬนาทู ประเทศอินเดีย  หัวหน้าคณะวิทยาการ กล่าวว่า จากการที่มาอยู่ที่บ้านท่าดีหมี 7 วัน ต้องชื่นชมชาวบ้านที่มีความตั้งใจเรียนรู้  ในระยะเวลาที่จำกัด  แต่พวกเขาพัฒนาได้เร็วมาก  จึงเชื่อว่าจะสามารถประสบความสำเร็จในการทำภาชนะจากธรรมชาติ  แต่ปัญหาคือ คุณภาพของกาบหมากที่นำมาผลิต ยังไม่ดีพอ เมื่อเทียบกับที่ผลิตในอินเดีย ที่นั่นต้องไปซื้อไกลถึง 600 กิโลเมตร ถ้วยจานสามารถใช้ได้หลายครั้ง เพราะหนากว่า  อย่างไรก็ตาม ที่ประเทศไทยมีวัตถุดิบอื่นๆ ที่น่าจะนำมาผลิตทดแทนได้หลายชนิด ซึ่งจะทำให้ต้นทุนถูกลงด้วย  นายบาบูกล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรียนรู้ หรือซื้อผลิตภัณฑ์ถ้วยจานกาบหมากของชาวบ้านท่าดีหมี สามารถติดต่อได้ที่คุณเรียน  หัวหน้ากลุ่ม  หมายเลขโทรศัพท์  098-6126237.


ภัทราวุธ  บุญประเสริฐ  ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จ.เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น